การเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอ

18 เมษายน 2567
อ่าน 4 นาที



ในการกำกับดูแลบริษัทที่เสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชน บทบาทของ ก.ล.ต. เริ่มต้นตั้งแต่การอนุญาตให้ออก
และเสนอขายใน “ตลาดแรก” โดยจะทำหน้าที่พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
และเมื่อเข้าจดทะเบียนใน “ตลาดรอง” แล้ว ก็จะกำกับดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอ

เกณฑ์ใหม่! รายงานผลการขายหุ้น IPO

ก.ล.ต. เห็นถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก
(หุ้น IPO) ที่ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรายงานผลการขายหุ้น IPO และ
มีวัตถุประสงค์นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการ
ตัดสินใจลงทุนทันเวลาก่อนวันที่หุ้น IPO จะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก และไม่เป็นภาระ
ต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูล เกินจำเป็น โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่มีผลใช้บังคับ
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

หัวใจสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้คือ การเปิดเผยข้อมูลผู้ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO เพื่อให้เห็นว่า
หุ้นที่ได้รับการจัดสรรนั้น มีการกระจุกตัวอยู่ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดหรือไม่ โดยให้นำส่งแบบรายงานผล
การขายหุ้น 81-1-IPO เพิ่มเติมในรูปแบบรายงานผลการขายอย่างย่อ (แบบ 81-1 อย่างย่อ) ซึ่งเป็นส่วนที่
เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต้องรายงานผลการขายหุ้น IPO (แบบ 81-1) ภายใน 30 วันหลังปิดการขาย
โดยแบบ 81-1 อย่างย่อ ประกอบด้วยข้อมูลผู้ถือหุ้นหลัง IPO และข้อมูลผู้ได้รับจัดสรรมากที่สุด 40 รายแรก
ซึ่งจะต้องนำส่งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วันทำการก่อนวันที่บริษัทจะเข้าซื้อขายเป็นวันแรก (First trading day)
หรือภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปิดการเสนอขาย แล้วแต่ว่าวันใดถึงกำหนดก่อน

เนื่องจากการซื้อขายหุ้น IPO ในช่วงแรกหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มักจะเป็นช่วงที่มีปริมาณ
การซื้อขายหุ้นอยู่ในระดับสูงและราคาหุ้นก็มักจะมีความผันผวนมาก การเป็นหุ้นเข้าใหม่จึงทำให้ได้รับ
ความสนใจจากผู้ลงทุนในวงกว้าง ซึ่งการเปิดเผยเกี่ยวกับผู้ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO เป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มข้อมูล
สำหรับผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนที่นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจที่ควรศึกษาอย่างละเอียด
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะธุรกิจ แนวโน้มรายได้ โครงสร้างการจัดการ ฐานะทางการเงิน รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ
ของธุรกิจ ซึ่งสามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวน

หมั่นติดตามและรักษาสิทธิ

หลังจากบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปและด้วยปัจจัยต่าง ๆ ก็อาจส่งผลกระทบ
ต่อบริษัทได้ ซึ่งบริษัทก็มีหน้าที่ในการดำรงไว้ซึ่งคุณสมบัติให้มีมาตรฐานเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่าตอนที่เข้า
ตลาดหลักทรัพย์และมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ตามเกณฑ์กำหนดไว้ตรงจุดนี้นี่เอง ที่ ก.ล.ต. จะกำกับดูแล บจ.

การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจ
ลงทุน

เมื่อใดก็ตามที่ บจ. เปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน หรือมีสิ่งที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น
ภายใต้อำนาจตามกฎหมาย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ สามารถให้บริษัทชี้แจงและเปิดเผยข้อมูล หรืออาจ
สั่งการให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) รวมถึงการเตือนผู้ถือหุ้นให้ไปใช้สิทธิในการออกเสียง
ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นกรณีที่มีการขอมติในเรื่องสำคัญ และการเตือนผู้ลงทุนให้ติดตามข่าวสารบริษัทและ
ระมัดระวังในการลงทุน

ในฝั่งของผู้ลงทุน เมื่อลงทุนแล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะติดตามข้อมูลหรือข่าวสารของบริษัทอย่างใกล้ชิด และเข้าร่วม
ประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง หรือศึกษาข้อมูลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่อาจจะกระทบกับบริษัท เพราะการศึกษา
ข้อมูลอย่างรอบด้าน และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน รวมทั้งคอยติดตามข่าวสารข้อมูลของบริษัทอยู่เสมอ
ในฐานะผู้ถือหุ้น เนื่องจาก ก.ล.ต ไม่ได้รับรองหรือรับประกันผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงผลการดำเนินงานของ
บริษัทจดทะเบียน หรือผลตอบแทนในการลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนไม่ควรละเลยที่จะรักษาสิทธิและติดตามข้อมูล
เพื่อดูแลเงินลงทุนของเราเองด้วยเช่นกัน

**************************​


จากบทความ "การเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอ" โดยนางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในคอลัมน์ “เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ